สายพันธุ์ต่างๆของ กิ๊งกือ

โครงการพัฒนาองค์ความรู้และการศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ เปิดตัว ‘กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหม่ของคนไทย’ พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ  ‘ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์ชีวิต’ ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK park)
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย และนักวิจัยโครงการ BRT เปิดเผยว่า กิ้งกือถือเป็นสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย แบ่งออกเป็นหลายประเภท อาทิ กิ้งกือกระบอก เป็นกิ้งกือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและพบบ่อยที่สุด กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก กิ้งกือขน ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากกิ้งกือจะกินซากพืช ลูกไม้ และผลไม่ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร เปรียบเหมือนการทำหน้าที่เทศบาลกำจัดขยะ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ

สำหรับการศึกษาเรื่อง ‘กิ้งกือ’ ในประเทศไทยนั้น มีการศึกษาค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกิ้งกือเป็นสัตว์ที่อาศัยหลบซ่อนอยู่ตามพื้นดิน อีกทั้งยังมีลักษณะที่หลายคนไม่ชอบ โดยทีมวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ถือเป็นทีมแรกที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับกิ้งกือไทย ด้วยการสนับสนุนของโครงการ BRT และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) ทั้งนี้ในการทำวิจัยระยะแรก จะเป็นการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์จำแนกสายพันธุ์

ที่ผ่านมาค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกไปแล้ว 2 ชนิด เป็นกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ และกิ้งกือมังกรสีชมพู และในครั้งนี้ยังสามารถแยกสายพันธุ์กิ้งกือกระบอก ได้อีก 12 ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างได้จากภาคใต้เกือบทั้งหมด บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ มีหนึ่งชนิดที่พบในภาคกลาง ที่จังหวัดอุทัยธานี

กิ้งกือทั้ง 12 ชนิดที่พบใหม่ ภายหลังมีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม, กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม, กิ้งกือเทาหลังแดง, กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู, กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม, กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง, กิ้งกือดำเท้าชมพู, กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล, กิ้งกือเหลืองดำ, กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง, กิ้งกือฮอฟแมน และ กิ้งกือดีมาง นอกจากนี้ ยังมีกิ้งกือที่คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกอีกประมาณ 30 ชนิด ซึ่งหมายความว่า น่าจะมีกิ้งกือกระบอกในประเทศไทยรวมกันมาถึง 50 ชนิด

ส่วนประโยชน์ของกิ้งกือที่หลายคนไม่ควรมองข้าม คือการทำหน้าที่ผลิตปุ๋ย ซึ่งหากบ้านไหนพบกิ้งกือเป็นจำนวนมาก ให้กวาดรวบแล้วนำไปใส่ในหลุมขยะประเภทซากพืช ผลไม้เน่า โดยเฉพาะมะม่วง ขนุน ฯลฯ กิ้งกือจะกินของเสียเหล่านี้ แล้วเปลี่ยนเป็นเม็ดสารอินทรีย์ที่พืชนำไปใช้เป็นอาหารได้ นั่นก็คือ ‘ปุ๋ย’ ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีกิ้งกือจำนวนมาก เท่ากับมีโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดย่อม กระจายตัวอยู่ทั่วไป หากเกษตรกรไม่ทำลายกิ้งกือ และปล่อยให้มันได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ กิ้งกือจะสามารถผลิตปุ๋ยที่มีสารอาหาร ที่สามารถใช้ทดแทนการใส่ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรได้บางส่วน

แหล่งที่มา: